วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติ วัดศรีโคมคำ

พระเจ้าตนหลวง"วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา “วัดศรีโคมคำ” ตั้งอยู่เลขที่ ๖๙๒ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง 
จังหวัดพะเยา ริมกว๊านพะเยา กว๊านพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำที่มี
ธรรมชาติงดงาม อยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากบังข้างหลังสูงตระหง่านอย่างงดงามตา คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้น
เมืองหมายถึง “บึง” มีเนื้อที่ ๑๒,๘๓๑ ไร่ มีความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร ลึกที่สุด ๔ เมตร เป็นแหล่งประมงน้ำจืด และเพาะพันธุ์
ปลาชนิดต่างๆ กว่า ๕๐ ชนิด เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลานิลปลาไน ฯลฯ ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนา
ประมงน้ำจืด พะเยาสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึก จากพ่อพันธุ์ในบ่อเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ เป็นแห่งแรกของโลกในปี พ.ศ.๒๕๔๔ 
สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาบึกได้เป็นแสนตัว ส่วนหนึ่งได้ปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบ กว๊านพะเยาเหมาะสำหรับพัก
ผ่อนหย่อนใจ ในยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊าน เป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและผู้มาเยือน จน
อาจกล่าวได้ว่า หัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่ ‘กว๊านพะเยา



“วัดศรีโคมคำ” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และวัดพัฒนาตัวอย่าง ชาวเมืองพะเยาทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” โดยสร้างขึ้นในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๖๗ “พระเจ้าตนหลวง” เป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง ศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร และสูง ๑๖ เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เดือนหกของทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง ตามตำนาน พระเจ้าตนหลวงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๔ โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น เจ้าอาวาสรูปแรกที่ปรากฏในตำนาน คือ พระธรรมปาล ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่




มีสมุดข่อยบันทึกว่า วัดศรีโคมคำ เป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่ยุคหลัง บ้านเมืองตกอยู่ในสงคราม ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมือง ที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอาราม รกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัยจากจังหวัดลำพูน มาเป็นประธาน ในการสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่างๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง นอกจากนี้ ยังมี พระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งมวลจากทั่วประเทศ โดยมี “นิยม สิทธหาญ” มัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ “จินดา สหสมร” สถาปนิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและวิถีชีวิตผู้คน ฝีมือของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ศิลปินแห่งชาติ และ “ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ”



“พระเจ้าตนหลวง” หรือ “พระเจ้าองค์หลวง” มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย ในช่วงเดือนหกของทุกปี ประมาณเดือนพฤษภาคม ตรงกับวันวิสาขบูชา จะมี งานนมัสการพระเจ้าตนหลวง หรือ เทศกาล “แปดเป็ง” จะมีประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อครั้งสมัยที่ยุคทองทางพระพุทธศาสนาของล้านนา ประชาชนจึงเชื่อว่าพระเจ้าตนหลวง คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ใครที่ได้มากราบสักการะแล้ว จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลอยู่ดีมีสุขตลอดไป



แหล่งที่มา : http://emotiond.blogspot.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น